ลงชื่อเข้าใช้งาน

นิทรรศการ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี หรือ “ทูลกระหม่อมน้อย” ของปวงชน ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘

ด้วยพระอุปนิสัยรักการอ่าน จึงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์มาตั้งแต่ทรงเป็นนักเรียน  ทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปะ  ทั้งยังทรงโปรดการเสียสละบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทรงใส่พระทัยพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและทรงศึกษาเรียนรู้ชนเผ่าชาวไทยทุกหมู่เหล่า

ด้วยความสนพระทัยด้านสังคมและมานุษยวิทยา จึงทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับปริญญาอักษรศาสตร มหาบัณฑิต สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังทรงเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตจนสำเร็จ รับพระราชทานปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ห้องทรงงานคือหมู่บ้านและพสกนิกร

ทุกครั้งที่เสด็จฯ เยี่ยมเยือนราษฎรในถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรัชกาลที่๙ ทรงสนพระทัยในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทรงสังเกต ซักถามและจดบันทึกด้วยความใส่พระทัยโดยมิได้ถือพระองค์ ซึ่งพระจริยวัตรเหล่านี้ถือเป็นหัวใจในการทำงานด้านมานุษยวิทยา คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จนก่อเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงคุณประโยชน์นานัปการเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการได้รับสิทธิทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมอันถือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ดีงาม

ตลอดเส้นทางที่เสด็จศึกษาและปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึง “รากไท” สายใยวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานกับอารยธรรมจีนและอินเดีย ก่อกำเนิดเอกลักษณ์เฉพาะของคนพื้นถิ่น “อุษาคเนย์” สืบสานเป็นมรดกภูมิปัญญาผ่านวัฒนธรรมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ภาษา ดนตรีศิลปการแสดง โดยได้ทรงบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหนังสือพระราชนิพนธ์และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ต่างๆ มากมาย เป็นแหล่งความรู้ชั้นเลิศด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของผู้คนและวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนประจักษ์ชัดว่าพระองค์ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักมานุษยวิทยา” อย่างแท้จริง”

ส่วนจัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์และศิลปกรรมฝีพระหัตถ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรัชกาลที่๙ โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระปรีชาด้านอักษรศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทรงบันทึกเหตุการณ์ข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ ทรงวิเคราะห์ วินิจฉัยและประมวลผลจนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ แล้วทรงนำมาถ่ายทอดผ่านงานพระราชนิพนธ์วิชาการ รวมถึงพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองกว่า ๑๐๐ เรื่อง ทั้งยังทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ไว้มากมาย เช่น ภาพการ์ตูน ภาพสีน้ำมัน ภาพพิมพ์ ภาพหมึก และงานปั้น

มานุษยวิทยาในมรรคาเจ้าฟ้าสิรินธร

จากพระราชปณิธานและพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในรัชกาลที่๙ ที่ทรงต้องการปลูกฝังให้ประชาชนคนไทยมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ภูมิใจในอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนและหมู่ชนที่แตกต่างหลากหลาย โดยใช้พลังแห่ง “ศรัทธาคู่กับปัญญา” มาสรรค์สร้างพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านมานุษยวิทยา สังคมวัฒนธรรมและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ ทรงมีพระราชปรารภว่า ประเทศไทยควรจะต้องมีศูนย์ข้อมูลทางด้านนี้ เพื่อให้บริการแก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป

หนังสือพระราชนิพนธ์

0%
    ดูรายละเอียด